วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2567

คำกริยา - Verbs ในภาษาอียิปต์โบราณ

คำกริยาในภาษาอียิปต์โบราณ

รูปแบบกริยา (Verbs) ในภาษาอียิปต์โบราณที่นักอียิปต์วิทยาศึกษาและเขียนตำราไว้มีอยู่มากมาย ที่นำมาโพสต์ไว้นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากต้องการศึกษาแบบละเอียดขอให้ศึกษาจากตำราสอนภาษาอียิปต์โบราณโดยตรง

การแปลคำกริยาในภาษาอียิปต์โบราณจำเป็นต้องรู้จักรากคำ (stem) ของกริยา และดูคำต่อท้าย (ending) ที่เติมท้ายคำกริยาเพื่อแยกแยะว่าเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต เพศชายหรือเพศหญิง เอกพจน์หรือพหูพจน์

ประเภทของกริยา

กลุ่ม 1. กริยาที่ไม่เปลี่ยนแปลง (Strong verbs)

คำกริยากลุ่มนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงรากคำ (stem) เมื่อมีการเปลี่ยนกาล (tense)

เช่น /sDm/ ฟัง/ได้ยิน

กลุ่ม 2. กริยาที่ท้ายคำเป็นพยัญชนะคู่ (Doubled verbs)

คำกริยากลุ่มนี้เดิมจะลงท้ายด้วยพยัญชนะคู่ แต่เมื่อเปลี่ยนกาล (tense) ในบางกาลจะตัดพยัญชนะคู่ออกหนึ่งตัว เหลือเพียงพยัญชนะเดียว

เช่น /mAA/ ดู/เห็น

กลุ่ม 3. กริยาที่ท้ายคำเป็นพยัญชนะที่ไม่ปรากฏชัดเจน (Weak verbs)

คำกริยากลุ่มนี้จะลงท้ายด้วยพยัญชนะที่ไม่ปรากฏชัดเจนหรือบางครั้งไม่ปรากฏ (weak consonant) ได้แก่ /i/ หรือ /w/ ซึ่งในบางครั้งจะไม่ปรากฏในจารึก และโดยทั่วไปจะไม่ปรากฏใน transliteration หรือบางทีจะใส่ไว้ในวงเล็บเมื่อเขียนด้วย transliteration

เช่น /mr(i)/ รัก

กลุ่ม 4. กริยาที่ท้ายคำเป็นพยัญชนะที่ไม่ปรากฏชัดเจนและเปลี่ยนแปลง (Extra weak verbs)

คำกริยากลุ่มนี้ลงท้ายด้วย /i/ หรือ /w/ เช่นกัน แต่เปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ค่อนข้างมาก และไม่นิยมเขียนพยัญชนะท้าย หรือ weak consonant ในจารึก บางครั้งไม่ปรากฏพยัญชนะตัวแรกก็มี ตัวอย่างเช่น รากคำของคำว่า "ให้" อาจเขียนว่า /rd(i)/ หรือ /d(i)/ ก็ได้

เช่น /rd(i)/ ให้/วาง



กริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม (Infinitives)

กลุ่ม 1. รากคำไม่เปลี่ยนแปลง

เช่น /sDm/ การฟัง


กลุ่ม 2. พยัญชนะท้ายคำยังคงมีสองตัว

เช่น /mAA/ การดู


กลุ่ม 3. มีการเพิ่มพยัญชนะ /t/ แทนที่ท้ายคำ

เช่น /mrt/ การรัก (ความรัก)


กลุ่ม 4. มีการเพิ่มพยัญชนะ /t/ แทนที่ท้ายคำ และบางครั้งตัดพยัญชนะแรกออก

เช่น /rdit/ การให้/การวาง หรือ /dit/ การให้/การวาง

ตัวอย่าง

กลุ่ม 1. 

/amaA r Apd(w)/ การขว้างไปที่นก (หลายตัว)


กลุ่ม 2. /mAA iwAw/ การมองดูวัว


กลุ่ม 3. /spt smH/ การสร้าง (ตามรากศัพท์คือ ผูก) เรือ


กลุ่ม 4. /dit iAw n Asir/ การถวาย (ให้) ความเคารพแด่เทพโอซิริส


ปัจจุบันกาล (Present tense)


ในประโยคปัจจุบันกาลจะมีการเติมสรรพนามแบบต่อท้าย (Suffix pronouns) ต่อไปนี้ เพื่อเป็นประธานของประโยค


บุรุษ เพศ พจน์ ถอดเสียง คำแปล

1 - เอก. /.i/ ฉัน

2 ช. เอก. /.k/ คุณ

2 ญ. เอก. /.T/ คุณ

3 ช. เอก. /.f/ เขา/ มัน

3 ญ. เอก. /.s/ เธอ/ มัน

1 - พหู. /.n/ พวกเรา

2 - พหู. /.Tn/ พวกคุณ

3 - พหู. /.sn/ พวกเขา


เช่น ในคำว่า /sDm/ ได้ยิน/ฟัง


/sDm.i/ ฉันได้ยิน

/sDm.k/ คุณได้ยิน

/sDm.T/ คุณได้ยิน

/sDm.f/ เขาได้ยิน

/sDm.s/ เธอได้ยิน

/sDm.n/ พวกเราได้ยิน

/sDm.Tn/ พวกคุณได้ยิน

/sDm.sn/ พวกเขาได้ยิน

 


อดีตกาล (Past Tense)


รูปอดีตกาลของกริยาในการศึกษาอักขระอียิปต์โบราณเรียกว่า รูปแบบ sDm.n(=f) หรือ "sedjemenef" (เซเจ็มเอ็นเอ็ฟ) ที่เรียกอย่างนี้เพราะใช้ระบุประธานที่เป็นเอกพจน์บุรุษที่สาม คือ เขา ที่ใช้กับกริยา Strong verb คือ /sDm/ และมีจุดต่อท้ายก่อนเติม n เพื่อแสดงว่า n ไม่ใช่รากคำ


การใช้งาน

รากของ Strong, Weak และ Extra weak ยังคงเดิม แต่พยัญชนะท้ายของ Doubled verb บางครั้งจะถูกตัดออกไป (อย่างในตัวอย่างข้างล่าง)


กลุ่ม 1. คงเดิม

เช่น /sDm.n=(f)/ เขาได้ยินแล้ว


กลุ่ม 2. ตัดพยัญชนะท้ายออกหนึ่ง

เช่น /mA.n=(f)/ เขาเห็นแล้ว


กลุ่ม 3. คงเดิม/ตัดพยัญชนะท้ายออก

เช่น /mr.n=(f)/ เขารักแล้ว


กลุ่ม 4. คงเดิม/เปลี่ยนแปลง

เช่น /rdi.n=(f)/ /di.n.f/ เขาให้/เขาวางแล้ว



คำช่วย (auxilliary word)

กริยารูปอดีตกาล "sDm.n=f" นี้มักจะมีคำช่วย /iw/ นำหน้า แต่ไม่มีการแปลคำนี้ หรืออาจแปลตามบริบทของประโยค


เช่น /iw Hbs.n=i HAy/ ฉันใส่เสื้อผ้าให้คนเปลือย


อดีตกาลสัมพันธ์ (Past Relative Tense)

รูปแบบกริยานี้เรียกว่า "sDmt.n(=f)" โดยเติม /t/ หลังกริยาที่เป็นรากคำและอยู่ก่อน /n/ ซึ่งแสดงอดีตกาล รูปแบบประโยคนี้เป็นแบบของอียิปต์โบราณโดยเฉพาะ เช่น ตามปกติเราจะพูดว่า ฉันสร้างบ้าน แต่ในประโยคลักษณะนี้จะสลับโดยพูดว่า บ้านที่ฉันสร้าง โครงสร้างประโยคนี้อาจอธิบายยากแต่ถ้าเห็นตัวอย่างแล้วน่าจะเข้าใจได้มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น


กลุ่ม 1. /sDmt.n=(f)/ ที่เขาได้ยินแล้ว


กลุ่ม 2. /mAt.n=(f)/ ที่เขาเห็นแล้ว


กลุ่ม 3. /mrt.n=(f)/ ที่เขารักแล้ว


กลุ่ม 4. /rdit.n=(f)/ ที่เขาให้แล้ว/ที่เขาวางแล้ว

อนาคตกาล (Future tense)

กริยารูปแบบอนาคตกาลเรียกว่า sDmty=fy ความหมายของประโยคลักษณะนี้ คือ "ผู้จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง" คำอธิบายอาจจะเข้าใจยาก ขอให้ดูจากประโยคตัวอย่างข้างล่างน่าจะเข้าใจได้มากขึ้น


เพศชาย /sDmty=fy/ ผู้จะได้ยิน

เพศหญิง /sDmty=sy/ ผู้จะได้ยิน

พหูพจน์ไม่ระบุเพศ /sDmty=sn/ ผู้จะได้ยิน



ตัวอย่างประโยคจริงในจารึก


/i anxw tpw tA swAty=sn Hr is pn/

ดูก่อน ผู้มีชีวิตทั้งหลายบนแผ่นดิน(โลก) ผู้จะผ่านมายังสุสานแห่งนี้


/swAty=sn/ คือกริยารูปอนาคตที่แปลว่า "ผู้จะผ่าน" และใช้กับประธานหรือคำนามในประโยคนี้คือ /anxw/ หมายถึง ผู้มีชีวิตทั้งหลาย รากคำศัพท์ในรูปกริยา /swAty=sn/ คือ /swA/ ผ่าน


 ปัจจุบันกาลเฉพาะ (Specific present)


ในรูปปัจจุบันกาลปกติ คือ /sDm=f/ เขาได้ยิน /ir=f/ เขาทำ


แต่ในปัจจุบันกาลเฉพาะจะเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เทียบกับภาษาไทยคือ "กำลัง..."

เช่น เขากำลังฟัง เขากำลังทำ


ภาษาอียิปต์โบราณจะเติม /Hr/ หน้ากริยาที่อยู่ในรูป Infinitive (กริยาที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม) เพื่อบอกว่า กำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้จะมีคำช่วย /iw/ ขึ้นต้นประโยค


ตัวอย่างประโยค


/iw.f Hr sDm/ เขากำลังฟัง

/iw.f Hr irt/ เขากำลังทำ

/iw.i Hr mAq Dr pAt/ ฉันกำลังย่างตั้งแต่ต้น (ในภาพกำลังปิ้ง/ย่างห่านมาตั้งแต่เริ่มต้น)


iw.i Hr mAq Dr pAt


รูปอนาคต sDm(=f)


รูปอนาคตกาลรูปแบบนี้แสดงความต้องการ ปรารถนา หรือคาดหวัง เรียกว่า อนาคตกาล sDm(=f)

รูปแบบการผันคล้ายกับปัจจุบัน บางทีอาจแยกได้ยาก แต่มีข้อสังเกตว่ารูปอนาคตแบบนี้จะไม่มีคำช่วย /iw/ เหมือนกับในรูปปัจจุบันกาล ในภาษาอังกฤษใช้ว่า may... (เช่น may he hear / he may hear)


ตัวอย่าง



/sDm=f/ ขอให้เขาได้ยิน...

/mA=f/ ขอให้เขาเห็น

/mr=f/ ขอให้เขารัก

/di=f/ ขอให้เขาให้

/Dd=tn/ ขอให้คุณพูด

/Ssp=f Htpt/ ขอให้เขาได้รับเครื่องบูชา

/iwt=f/ ขอให้เขามา (คำนี้พิเศษเติม /t/)

/int=f/ ขอให้เขานำมา (คำนี้พิเศษเติม /t/)







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประมวลคำศัพท์อักษรอียิปต์โบราณเบื้องต้น (Basic Ancient Egyptian terms)(AE-Thai)

ประมวลคำศัพท์อักษรอียิปต์โบราณเบื้องต้น (Basic Ancient Egyptian terms)(AE-Thai) อักษรโรมันระบบ Manuel De Codage เพื่อการถอดเสียงอักษรอียิปต์...